Article

แซมเปิ้ลโดยไม่ได้รับอนุญาต คอขาด หรือ รับได้!?

หัตถาครองพิภพ March 18, 2013

 
 
กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้เลยสำหรับเพลงที่เรียกได้ว่า   ดังขึ้นมาเพราะ social network และการแชร์คลิปของยูทูป ผ่านสายตาผู้คนบนโลกหลายพันล้านคน  ด้วยอากัปกิริยาของคนในคลิปที่เริ่มด้วยการเต้นอยู่คนเดียว เพื่อนไม่สนใจใน 15วิแรก ก่อนที่ 15 วิหลัง จะบ้าคลั่งกันเป็นไส้เดือนโดนน้ำกรดลวก .. ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึง Harlem Shake นั่นเอง  ซึ่งเพลงเวอร์ชั่นที่โด่งดังนี้   ดังมากขนาดขึ้น No.1 ของ Billboard ไปแล้ว  และคลิปไม่รู้กี่หมื่นเวอร์ชั่นถูกถ่าย และอัพแชร์กันอย่างสนุกสนาน  ไม่เว้นแม้กระทั่ง Slenderman ผีฝรั่งอันโด่งดังยังมาHarlem Shake กะเขาด้วย
 
ทีนี้ เรื่องของเรื่องมันก็มีอยู่ว่า ไอ้เจ้าเพลง Harlem Shake นี่แหละ ถูกทำและมิกซ์ขึ้นโดยฝีมือของดีเจแนว Trap และ Bass Music นามว่า Baauer  นั่นเอง ซึ่งในตอนนี้ กำลังจะเกิดเรื่องขึ้นเพราะ ศิลปินเจ้าของผลงานต้นตำรับ ตรวจพบว่า  ไอ้งานที่โด่งดังเปรี้ยงปร้างเขย่ากระแสกังนัมฯเพลงนี้นั่น   มีเสียงของตัวเองที่ถูกsampleใช้อย่างไม่ได้ขออนุญาตหรือถูกลิขสิทธิ์แต่อย่างใด  ซึ่งคนแรกนั่นก็คือ Héctor Delgado(อันนี้เป็นศิลปินเรกเก้นะครับ ไม่ใช่แรปเปอร์) ผู้เป็นเจ้าของเสียงท่อน Con Los Terroristas ที่มันเป็นประโยคประจำ เหมือนเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาที่เขามักพูดและร้องบ่อยๆ   และเท่านั้นยังไม่พอ เพราะไอ้ท่อนที่ว่า Do the Harlem Shake ที่เราได้ยินในเพลงนั้น ก็มาจากแซมเปิลเสียงของ Jason Musson ซึ่งเป็นแร็ปเปอร์อีกท่านหนึ่ง โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตด้วย
 
คือเอาจริงๆเลยเรื่องของเรื่อง  ถ้าเพลงมันไม่ดังขึ้นจนเป็นกระแสที่เรียกว่า ระดับโลกแบบนี้   คดีความอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้  แต่ทีนี้  เพลงมันแรงขึ้นมาเพราะกระแสแชร์ต่อ ความฮาของไอเดียคลิปที่เริ่มต้นจากเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง  ทำให้ HS นี้  เด้งขึ้นอันดับ1บิลบอร์ดมาหลายสัปดาห์แล้ว  รวมถึงยอดขายยอดโหลดที่พุ่งกระฉูดเป็นประวัติการณ์ กว่า แปดแสนดาวน์โหลด .. ทำให้มีคนพบเห็น และศิลปินเจ้าของต้นตำรับทั้งสอง ก็พบว่างานของตนถูกนำมา sample โดยไม่ได้รับอนุญาต “featured without permission” นั่นละครับ  คือง่ายๆ เอาเสียงเค้ามาใช้ดื้อๆนั่นแหละสำหรับตัวโปรดิวเซอร์หรือคนทำเพลง ซึ่งก็คือ Baauer ซึ่งคิดว่า  รายได้จากการได้ดาวน์โหลดนั่น  สงสัยจะโดนเอามาจ่ายค่าที่ต้องโดนสองศิลปินนี้ฟ้องร้องแล้วกระมัง  
 
         อย่าง งานของDelgadoนั่นมีในปี 2006 แต่ HS นี่ออกปี 2012 แน่นอน ห่างกันครึ่งทศวรรษ แต่ถูกนำมาใช้ทีหลังแบบนี้ ดิ้นไม่หลุดอยู่แล้ว ส่วนของ Mussonนั่นมาจากกลุ่ม Plastic Little ในปี2001 ซึ่งคุณพี่ Barney Hooper จาก PRS for music ก็ได้กล่าวไว้ประมาณว่า  ถ้าเพลงๆหนึ่งมีชิ้นส่วนที่ถูกคัดลอกหรือ sampled จากแหล่งอื่นๆ และเพลงนั้นทำรายได้แล้ว  ศิลปินผู้ผลิตผลงานส่วนหนึ่งที่ถูกsampleนั้น ก็ควรได้รับส่วนแบ่งและรายได้ด้วย ถ้ามันถูกขายหรือถูกนำไปใช้ ถูกเปิด   ประมาณนี้..
 
        ซึ่งหากถามว่า กรณีแบบนี้  มันถูกต้อง และสมควรหรือไม่   เอาจริงๆแล้ว  มันก็ควรจะเป็นแบบนั้นแน่นอนเพราะการนำชิ้นส่วนของเพลง  ชิ้นส่วนของเสียง  อันมีเจ้าของ หรือมีคนคิดไว้ ไปใช้ประโยชน์  ใช้ในการค้า  และหรือได้รับรายได้จากตรงนั้นแล้ว  ผู้ที่คิดแรกเริ่ม ก็มีสิทธิ์ และสมควรที่จะได้รับส่วนแบ่งอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอันเกิดจากสมองตนด้วยอย่างแน่นอน   ไม่ใช่ว่าใครก็ไม่รู้จะมาสวมสิทธิ์  หรือลอกเอางานของเราไปใช้ และหารายได้อยู่คนเดียวฟรีๆ ซึ่งในลักษณะการแบ่ง “แชร์”  รายได้ตรงนี้  จะทำให้เป็นประโยชน์แก่ศิลปินผู้คิดค้นงานได้มีรายได้ดำรงชีวิต ให้เหมาะสมกับสิ่งที่เค้าคิดค้นขึ้นมาด้วย   ไม่งั้นคนทำเพลงก็จะไม่ได้อะไรเลย แถมโดนขโมยงานไปใช้แบบกินนิ่มอีก  เคสนี้เป็นเคสตัวอย่างที่สมควรทำทุกอย่างใหถูกต้องเป็นมาตรฐาน จะได้สบายใจกันทุกฝ่าย
 
        ส่วนเมื่อมองเรื่องนี้ ย้อนกลับมาหาบ้านเราแล้ว  ก็ไม่ต่างกันมาก  สิ่งนี้ยังขาดอยู่ในบ้านเราอย่างรุนแรงเพราะไม่มีการปกป้องศิลปินผู้คิดค้นเพลง หรือเหล่าทีมเพลง นักแต่งเพลงในบ้านเราเลยเพราะส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ทำงานกันแบบ โดนนายทุนซื้อเพลงแบบ “ขาด” ไปแล้ว  กล่าวคือ จะไม่ได้ส่วนแบ่งหรือค่าดาวน์โหลดอะไรมาทั้งนั้น เหมือนเป็นลูกจ้างทำงานให้นายจ้าง  และเคสแบบนี้ก็เกิดกับศิลปินบางคนที่เคยอยู่ค่ายใหญ่  แต่พอเค้าจะทำมาหากินโดยเพลงที่เค้าเป็นคนแต่ง เป็นคนทำเอง  กลับร้องไม่ได้  ต้องเสียเงินเสียค่าลิขสิทธิ์ในระดับแพงหูฉี่.. นี่คือปัญหาหนักของบ้านเราเลยทีเดียว ทำให้นักแต่งเพลง คนทำเพลงหลายๆคน ต้องหันไปทำมาหากินแบบอื่นแม้กระทั่งขายก๋วยเตี๋ยวก็ตาม (อันนี้เรื่องจริง ไม่ได้มุก เพราะผมก็คนแต่งเพลงจนๆคนนึงเช่นกัน - -)  ก็หวังว่าเรื่องนี้จะเป็น Case Study กระทบมาถึงเมืองไทยบ้าง
 
         ส่วนอีกประเด็นนึง  คงหนีไม่พ้นว่า   มันมีศิลปินบางคนบางกลุ่ม ที่ไปขโมยงานของเค้ามา..  และเอาไปทำรายได้แบบมหาศาลเป็นกอบเป็นกำ  เรียกง่ายๆว่า เพลงดังนั่นแหละ   แต่ไม่ให้เครดิตกับเจ้าของต้นฉบับที่ไปลอกมา  ตัวเองขโมยมาแต่อยากให้คนอื่นอุดหนุนงานลิขสิทธิ์ แต่ตัวเองไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ แถมยังแอบอ้างเป็นของตัวเองเนียนๆ  เท่านั้นยังไม่พอ   โดนคนจับได้ยังไม่ยอมรับอีก
 
         เหนือคำบรรยาย เหมือนเทียบกับเคส Baauer .. ฝั่งเราด้านกว่าเยอะ  อาจเป็นเพราะจิตสำนึกของคนไทยส่วนที่ยังไม่พัฒนานั่นแหละครับ ที่มองการขโมยพวกนี้เป็นเรื่องปกติ   หันไปดูต่างชาติจากเคสของ harlem Shake นี้ซะบ้าง

social network, Jason Musson, Plastic little