Movie

Cafe' Society ณ ที่นั่นเรารักกัน

YOU2PLAY July 04, 2016

Cafe' Society ณ ที่นั่นเรารักกัน
 

เขียนบท และกำกับโดย วู้ดดี้ อัลเลน
ความยาว 96 นาที
นำแสดงโดย
จีนนี่ เบอร์ลิน
สตีฟ  คาเรล
เจสซี  ไอเซนเบิร์ก
เบลค ไลฟ์ลี่
พาร์คเกอร์ โพซีย์
คริสเตน สจ๊วต
คอรีย์  สโตลล์ 
เคน สต็อตต์
 

เรื่องย่อ
     ณ มหานครนิวยอร์ก ปี 1930 ชีวิตของบ๊อบบี้ ดอร์ฟแมนมีแต่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ชอบหาเรื่องทะเลาะ พี่ชายก็เป็นสมาชิกแก๊งสเตอร์และกิจการร้านเพชรพลอยของครอบครัวที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก เขาตั้งใจจะเปลี่ยนบรรยากาศซักครั้ง ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจแสวงโชคที่ฮอลลีวูดด้วยการทำงานรับใช้คุณลุงฟิล ผู้จัดการดารา แล้วที่นั่นเขาก็ตกหลุมรักหญิงสาวนางหนึ่งทั้งๆที่เธอมีแฟนหนุ่มอยู่แล้ว บ๊อบบี้จึงคงสถานะเพื่อนสนิทไว้ก่อน จนกระทั่งวันหนึ่งหญิงสาวคนนั้นไปเคาะประตูหน้าบ้านบ๊อบบี้และบอกเขาว่าเธอเลิกรากับแฟนหนุ่มคนนั้นแล้ว ชีวิตของเขาจึงพลิกผันสิ้นเชิง


เบื้องหลังงานสร้าง
     หนังเรื่อง Café Society ของผู้กำกับ วู้ดดี้ อัลเลน เป็นเรื่องราวยุค 1930 ในมหานครนิวยอร์กและฮอลลีวูด ที่ๆอุดมด้วยผู้คนหลากหลายประเภท ตั้งแต่ดาราหนังจนถึงมหาเศรษฐี เพลย์บอยจนถึงศาสตราจารย์ ผู้หญิงหากินจนถึงปัญญาชน


     การถ่ายทอดเรื่องราวในวงกว้างหลากหลายถูกวางไว้ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว “เมื่อผมเขียนบทหนัง ผมวางโครงสร้างให้เหมือนนวนิยาย ความคล้ายกับการอ่านหนังสือก็คือคุณมักจะมีเวลาซักพักเพื่อดูฉากตัวละครเอกอยู่กับแฟนสาว ฉากพ่อแม่ของเขาตามด้วยฉากพี่น้องที่เป็นพวกแก๊งสเตอร์ ฉากบรรดาดาราฮอลลีวูด ตามด้วยบรรดานักการเมือง มือใหม่ออกงานราตรี บรรดาเพลย์บอย มีการนอกใจหรือการฆาตกรรม สำหรับผม มันไม่ใช่เรื่องราวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องราวของทุกคน” ผู้กำกับลายครามกล่าว
 

     เรื่องราวหลักในหนังอยู่ที่ตัวละครนามว่าบ๊อบบี้ ดอร์ฟแมน หนุ่มจากย่านบร็องซ์ผู้มีความทะเยอทะยานเข้าสู่วงการฮอลลีวูดและกลับสู่นิวยอร์กอีกครั้ง “เรื่องความรักของบ๊อบบี้ถือเป็นเกราะกำบังที่หนังเรื่องนี้ยึดถือเอาไว้ แต่ตัวละครอื่นๆต่างหากที่ได้สร้างสรรค์บรรยากาศและโครงเรื่องในแบบของมันเอง”


     แล้วเหมือนกับในนิยายก็คือเรื่องราวในหนังจะถูกเล่าผ่านเสียงบรรยายของผู้ประพันธ์ ดังนั้นอัลเลนจึงคิดว่าหนังเหมาะสมกับการใส่เสียงบรรยาย “ผมลงมือด้วยตนเองเพราะผมรู้ว่าผมอยากให้ถ้อยคำต่างๆถูกผันไปทางไหน ผมเข้าใจตั้งแต่ลงมือเขียนหนังสือ จึงดูเหมือนว่าผมกำลังอ่านจากนิยายของผม
 

     Café Society คือกลุ่มบุคคลในแวดวงสังคม คนชนชั้นสูง ศิลปินและคนมีชื่อเสียงที่มักจะรวมตัวกันในคาเฟ่ชั้นเลิศและร้านอาหารหรูๆในมหานครนิวยอร์ก ปารีสและลอนดอนในยุคปลายศตวรรษที่ 19 และยุคต้นศตวรรษที่ 20 ศัพท์นี้เป็นที่พูดถึงกันมากในนิวยอร์กยุค 1930 หลังจากการล่มสลายของยุคปิดกั้นแหล่งอบายมุข (prohibition ยุคที่สุรายาเสพติดและการพนันถูกควบคุม ริ่เริ่มโดยองค์การศาสนาคริสต์) และสื่อสิ่งพิมพ์พวกแท็บลอยด์ถือกำเนิดขึ้นซึ่งมักจะประโคมข่าวเกี่ยวกับคนในสังคม Café Society แล้วมหานครนิวยอร์กก็จะมีคลับมากมายหลายแห่งรวมถึงวงออร์เคสตร้ากว่า 50 วง ทุกๆคืนจะมีคนดังสวมชุดทักซิโด้หรือชุดคลุมราตรี เฉิดฉายจากย่านกรีนวิชที่ขึ้นชื่อเรื่องดนตรีแจ๊ส ไปยังคลับใจกลางเมืองในตำนานอย่างเอล โมร็อกโค แล้วไปยังถนนที่ 142 ในย่านฮาร์เล็ม ที่ตั้งของโรงมหรสพ คอตตอน คลับ “ผมคิดว่ายุคนั้นมีเสน่ห์จริงๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุคที่เร้าใจที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหานคร มันเพียบพร้อมด้วยโรงละคร  คาเฟ่ และร้านอาหารหรูๆ ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ คุณจะอยู่ที่ไหนก็ตามก็รายล้อมด้วยงานราตรีของสังคมชั้นสูง”


     ยุคทองในฮอลลีวูดก็ถือเป็นสิ่งที่ติดตรึงใจสำหรับคนมีฐานะและมีชื่อเสียงเช่นกัน แต่ชีวิตราตรีของพวกเขากลับแตกต่างจากที่มหานครนิวยอร์กอย่างเห็นได้ชัด “สถานที่โดดเด่นในฮอลลีวูดก็คือคลับโคโคนัท โกรฟและคาเฟ่ โทรคาเดโร่ คือไม่มีที่โดดแด่นมากมายนัก ทุกคนจะขับรถมาเยือนคลับเหล่านั้นซึ่งโด่งดัง สง่างามเพราะที่นั่นมีแต่ดาราหนัง ขณะที่สังคมราตรีที่นิวยอร์กดูภูมิฐานในแบบที่ฮอลลีวูดยังไม่มี”
 

     นอกจากจะถ่ายทอดเรื่องราวในยุคนั้นแล้ว Café Society ยังถ่ายทอดเรื่องราวครอบครัวอีกด้วย มันเล่าเรื่องมาร์ตี้ (เคน สต็อตต์) คุณพ่อของบ๊อบบี้ที่เจ้าอารมณ์แต่ยึดมั่นในศีลธรรมและเปิดร้านเพชรพลอยในย่านบร็องซ์ ส่วนภรรยาของเขา โรส (จีนนี่ เบอร์ลิน) ก็คอยรับมือกับสภาวะทางจิตของสามีที่ไม่สู้ดีและความล้มเหลวที่เข้ามา “เธอรู้สึกว่าถ้าเธอมีสามีใหม่ ชีวิตของเธออาจจะดีกว่านี้ พวกเขาทะเลาะกันตลอดเวลา แต่พวกเขาก็ยังผูกพันกันและรักกัน การพิสูจน์ให้เห็นจึงมีวิธีที่ผิดแปลกออกไป ประมาณว่าพวกเขาคงเข้าโรงพยาบาลด้วยกันถ้าใครคนใดคนหนึ่งเจอเรื่องร้ายเข้าให้” อัลเลนกล่าว

 

     ในบรรดาลูกตระกูลดอร์ฟแมน ประกอบด้วย เบน (คอรีย์ สโตลล์) ลูกคนโตสุดในบรรดาลูกสามที่กลายเเป็นแก๊งสเตอร์  “เบนเห็นว่าพ่อของเขาไม่ได้ให้อะไรเลยและยังต้องปากกัดตีนถีบ เขาก็เลยเข้าร่วมแก๊งมาเฟีย ได้งานทำที่เงินดีกว่าแต่ผิดกฎหมาย แล้วก็พบว่ามีชีวิตที่ดีขึ้นมากเดิม”  ขณะที่เบนผละตัวเองจากครอบครัว ความทุ่มเทให้แก่ญาติพี่น้องก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เขายังวนเวียนอยู่รอบกิจการของครอบครัวและช่วยเหลือทุกคนเท่าที่ทำได้ ตามด้วย เอเวอลีน  (แซรี เลนนิค) ลูกสาวคนกลางที่เป็นครูและแต่งงานกับศาสตราจารย์ เลียวนาร์ด (สตีเฟ่น คังเคน) 
 

 

     ในช่วงเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อบ๊อบบี้ (เจสซี ไอเซนเบิร์ก)ไปตั้งหลักชีวิตที่ลอสแองเจลิสเพื่อหวังว่าจะได้เจออะไรที่น่าสนใจกว่าทำงานร้านเพชรพลอยของพ่อไปวันๆ แล้วกิจการงานร่วมกับน้องชายของคุณแม่นามว่า ฟิล สเติร์น (สตีฟ คาเรล) ผู้จัดการดารานี่แหละที่สร้างความหวังให้ชีวิตของเขา  “บ๊อบบี้ในช่วงเริ่มต้นของหนังเป็นคนที่เกือบไร้เดียงสา ออกจะเป็นคนใสซื่อที่คิดว่าเขาสามารถเข้าสู่วงการฮอลลีวูด  แล้ววงการนั้นก็จะพร้อมยินดีต้อนรับเขาแน่นอนว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่เขาคิดว่าเขาต้องการอะไรซักอย่างที่เร้าใจกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของคนยุคหนึ่งและวัฒนธรรมที่ทำให้ความฝันเหล่านั้นดูเหมือนเป็นไปได้ เพราะเขามีคุณลุงผู้เคยประสบความสำเร็จมาก่อน และขณะที่เขากำลังเปิดรับสู่โลกแห่งความจริงที่มีทั้งความงามและการแข่งขัน เขาก็ค้นพบตัวเองด้วยแนวทางที่ทั้งดีงามและด่างพร้อย”  เจสซี ไอเซนเบิร์ก กล่าว
 

 

     ทางด้านฟิล คุณลุงของบ๊อบบี้ก็เป็นผู้ทรงอิทธิพลที่อยู่ชั้นแถวหน้ากับบรรดาคนดังฮอลลีวูด แต่ยากที่จะจำเสียงพี่สาวที่โทรมาเสียนี่ สตีฟ คาเรลกล่าวถึงตัวละครนี้ว่า “เมื่อคุณพบกับฟิลเป็นครั้งแรก คุณจะรู้สึกว่าเขาเป็นคนน่าเกรงขามมาก เป็นคนมากการงาน ต้องคอยติดต่อและพบปะผู้คนในคราวเดียวกันเสมอ แล้วเขาก็รับมือกับมืออย่างเต็มที่ แต่ยิ่งคุณเห็นตัวตนเขาได้มากขึ้นเท่าไร คุณก็จะรู้ว่าเขามีด้านที่อ่อนโยนและเปราะบางมากขึ้นเท่านั้น และเขาก็มีสมบัติความเป็นผู้ดีอีกด้วย เขาจะไม่ตัดสินความคิดหรือความรู้สึกของผู้อื่น ผมเลยคิดว่าสิ่งนี้ทำให้เขามีความเป็นมนุษย์และเป็นที่รักมากขึ้น”


     ขณะที่บ๊อบบี้ยังเข้ามาใหม่ๆที่แอลเอ ฟิลก็ขอให้ผู้ช่วยของเขานามว่า วอนนี่ (คริสเตน สจ๊วต) พาบ๊อบบี้เที่ยวรอบเมือง แล้วหลังจากพาเที่ยวบ้านดาราและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับวงการฮอลลีวูดในสายตาของวอนนี่ ทันใดนั้นบ๊อบบี๊ก็หลงรักเธอเข้าให้ “วอนนี่เป็นผู้หญิงทะเยอทะยานคนหนึ่งที่รับรู้ความเป็นไปของวงการที่เธอสังกัดอย่างถ่องแท้ วงการนั้นทั้งสนุกและตื่นเต้นดีแต่ก็กลวงเปล่า ซึ่งมันก็มีเสน่ห์สำหรับเธอ” คริสเตน สจ๊วตกล่าวถึงตัวละครของเธอ ขณะที่ไอเซนเบิร์ก นักแสดงที่ร่วมงานกับสจ๊วตเป็นเรื่องที่สาม (ต่อจาก Adventureland และ American Ultra) กล่าวเสริมอีกว่า “ผมคิดว่าตัวละครทั้งสองต่างก็หลงใหลและรับมือกับมนต์เสน่ห์ของด้านที่แสนฉูดฉาดในเมืองแห่งวงการมายา แต่วอนนี่เป็นคนที่มอบภูมิคุ้มกันขนานแท้ให้บ๊อบบี้ เธอเป็นคนที่ทั้งชอบถากถางและตลก อีกทั้งดูเหมือนเธอมีมุมมองเกี่ยวโลกแห่งความเป็นจริง แต่โชคร้าย วอนนี่มีแฟนหนุ่มแล้ว และเขาก็ต้องยอมรับในฐานะเพื่อนสนิทเท่านั้น”


     แล้วที่เมืองแห่งมายานี่เอง บ๊อบบี้ก็ได้เจอเพื่อนสนิทคนใหม่หลากหลายอาชีพ หลากหลายฐานะ ไม่ว่าจะเป็น แร้ด เทเลอร์ (พาร์คเกอร์ โพซีย์) สาวชาวนิวยอร์ก เจ้าของกิจการตัวแทนโมเดลิ่ง และสตีฟ (พอล ชไนเดอร์) สามีของเธอและเป็นผู้อำนวยการสร้าง สตีฟได้ชักชวนบ๊อบบี้มาดูหนังของเขาที่บ้าน และบ๊อบบี้ก็ลิ้มรสชาติครั้งแรกว่าชีวิตในฮอลลีวูดสำหรับเขาเป็นอย่างไร

     วันหนึ่ง เมื่อจู่ๆ แฟนหนุ่มของวอนนี่บอกเลิกกับเธอ บ๊อบบี้ก็ถือโอกาสสานสัมพันธ์รักกับเธอและสุดท้ายเธอก็รับรัก ขณะที่บ๊อบบี้เริ่มไต้เต้าอาชีพที่บริษัทของฟิล เขาก็รู้ว่าเมืองแอลเอไม่ใช่ที่สำหรับเขา เขาขอแต่งงานกับวอนนี่แล้วตั้งใจกลับสู่นิวยอร์กเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ย่านกรีนวิช เธอดูเหมือนจะตอบตกลงจนกระทั่งแฟนเก่าของเธอปรากฏตัว แม้เธอจะรักบ๊อบบี้ขนาดไหน สุดท้ายเธอก็กลับไปหาคนเก่า
 

 

     เมื่อบ๊อบบี้กลับถึงนิวยอร์กและไปช่วยงานของเบน พี่ชายคนโตที่กลายเป็นเจ้าของไนท์คลับชื่อว่า “คลับ แฮงค์โอเวอร์” บ๊อบบี้ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาบริหารงานได้ดีและรู้ว่าจะดึงดูดลูกค้าพวก Café Society ได้อย่างไร ขณะเดียวกัน แร้ด เทเลอร์ก็พยายามโน้มน้าวให้เขาปรับปรุงไนท์คลับและเปลี่ยนชื่อเป็น “เล โทรพิคเก” (Les Tropiques) แล้วไม่นาน ไนท์คลับแห่งนี้ก็เต็มไปด้วยคนสังคมชั้นสูง ดาราดัง นักการเมืองและเพลย์บอย ขณะที่บ๊อบบี้ก็ระเริงไปกับพวกเขา

     คืนหนึ่ง แร้ดก็แนะนำหญิงสาวคนใหม่ให้เขา เธอชื่อว่า เวโรนิก้า (เบลค ไลฟ์ลี่) สาวสังคมที่พึ่งโดนสามีทิ้งแล้วไปคบเพื่อนซี้ของเธอมาดๆ “เธอเจ็บปวดและใจสลายจริงๆกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เธอยังไม่ถึงขนาดเบื่อโลกเบื่อชีวิต เธอยังมีความไร้เดียงสาเมื่อเธอได้ยินเรื่องราวครอบครัวของบ๊อบบี้ และเธอก็ค้นพบเพราะความอยากรู้อยากเห็นของเธอ เธอมีความตรงไปตรงมาซึ่งปราศจากขีดกั้นทางสังคมและการเมืองใดๆซึ่งแพร่หลายในยุคนั้น”  ดาราสาวจากซีรี่ส์ Gossip Girl กล่าวถึงตัวละครของเธอ แล้วต่อมาเวโรนิก้าก็หลงเสน่ห์บ๊อบบี้เข้าให้ แต่หลังจากจีบกันไม่นาน เธอก็บอกว่าเธอตั้งท้องขณะที่บ๊อบบี้ยังสลัดภาพของวอนนี่ออกจากความทรงจำไม่ได้ซักที กระนั้นเขาก็ขอเธอแต่งงานในที่สุด “เวโรนิก้าเป็นตัวละครที่น่าสนใจจริงๆ เพราะหนังเรื่องนี้คือหนังรักเรื่องหนึ่งแล้วคุณก็จะเอาใจช่วยคนสองคนซึ่งถือเป็นหัวใจของหนัง แล้วเมื่อเวโรนิก้าปรากฏตัวเข้ามา คุณอาจจะชอบเธอแต่ก็อยากให้คู่รักคนก่อนหน้านั้นกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง คุณก็คงเอาใจช่วยเธอและในคราวเดียวกันคุณก็คงเอาใจช่วยพวกเขาเช่นกัน”
 

     ขณะเดียวกัน ชีวิตคู่ของเอเวอลีนและเลียวนาร์ดก็เริ่มจะมีปัญหาเช่นกัน ซึ่งวิธีแก้ปัญหาของเลียว์นาร์ดก็ยิ่งแตกหักมากขึ้นไปอีก เอเวอลีนจึงร้องขอให้เบนช่วยพูดกับเขาซึ่งนั่นจะทำให้เธอเสียใจภายหลัง

     แล้วองค์ประกอบสำคัญที่จะถ่ายทอดความหรูหราของผู้คนในยุค 1930ให้มีชีวิตชีวาได้คือการกำกับภาพซึ่งถือเป็นครั้งแรกของวู้ดดี้ อัลเลนที่ร่วมงานกับ วิตตอริโอ สโตราโร ผู้กำกับภาพเจ้าของ 3 รางวัลออสการ์จาก Apocalypse Now (1979), Reds (1981) และ The Last Emperor (1987) “ผมคิดว่าการกำกับภาพเป็นสิ่งสำคัญมากๆในการเล่าเรื่อง แล้ววิตตอริโอเป็นศิลปินมือฉกาจจริงๆ” ผู้กำกับกล่าวชม และในการทำงานร่วมกันครั้งแรก พวกเขาเลือกถ่ายทำหนังด้วยกล้องดิจิตอลซึ่งสโตราโรเคยทดลองมานานหลายปี แล้วเขารู้สึกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยยกระดับที่ทำให้ผลออกมาเป็นที่พึงพอใจ การกำกับภาพในหนังเรื่องนี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วนที่ให้บรรยากาศที่แตกต่างกัน “บรรยากาศในย่านบร็องซ์จะค่อนข้างแห้งๆเย็นๆ เกือบเหมือนแสงตอนเย็นในฤดูหนาว  แต่ในลอสแองเจลิสจะแตกต่างกันสิ้นเชิง บรรยากาศที่ฮอลลีวูดก็จะมีแม่สีที่เข้มข้นเป็นส่วนประกอบในสีส่วนรวมโทนอบอุ่น ให้ความรู้สึกจัดจ้าน แล้วหลังจากบ๊อบบี้กลับสู่นิวยอร์ก ทุกอย่างก็จะสดใสมากกว่าเดิมและมีสีสันมากขึ้นโดยเฉพาะฉากไนท์คลับ ขณะที่หนังกำลังดำเนินเรื่อง หนังมีการถ่วงดุลอำนาจขององค์ประกอบทางด้านภาพระหว่างเมือง 2 เมือง นั่นเป็นสิ่งที่ผมชอบเพิ่มเติมลงไปในหนัง มันค่อนข้างแตกต่างกันทางด้านภาพในช่วงแรก แต่ยิ่งใกล้ชิดทีละขั้นๆ ก็พบว่าทั้งสองแห่งมันชื่อมโยงซึ่งกันและกัน” ผู้กำกับภาพเจ้าของ 3 ออสการ์กล่าว

     ขณะที่หนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่ถ่ายภาพออกมาในรูปแบบมุมกว้างเพื่อเหมาะสมสำหรับหนังย้อนยุค สโตราโรและอัลเลนตัดสินใจใช้กล้องสเตดิแคมเมื่อตัวละครผู้บรรยายเริ่มปริปาก “ตัวละครผู้บรรยายไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาใดช่วงหนึ่ง ยุคใดยุคหนึ่ง หรือสถานที่ใดที่หนึ่ง ตัวละครตัวนั้นเป็นสิ่งนามธรรมสมบูรณ์แบบจริงๆ ดังนั้นเมื่อผู้บรรยายเริ่มเล่าเรื่องราว เรารู้สึกว่าตัวละครตัวนั้นควรมีมุมมองเป็นของตนเอง เราจึงตัดสินใจใช้กล้องสเตดิแคมซึ่งเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมเพื่อเสริมเรื่องราวรอบตัวละครได้มากกว่าและมีอิสระได้มากกว่าในการเล่าเรื่องสอดคล้องกับตัวหนังเอง” สโตราโรกล่าว

     ส่วนคลับ แฮงค์โอเวอร์ และเล โทรพิคเกในแมนฮัตตัน ก็ถูกสร้างที่สตูดิโอแห่งเดียวกัน องค์ประกอบสำคัญที่แสดงให้เห็นการปรับปรุงไนท์คลับก็คือตัวผนังที่สร้างสรรค์โดยนักออกแบบงานสร้าง ซานโต โลควอสโต ดังนั้นแผ่นกระเบื้องผนังจะต้องถอดออกได้และสับเปลี่ยนได้ง่าย “ ผมจำลองไนท์คลับมาจากหนังย้อนยุคเรื่องอื่นๆเช่นเดียวกับภาพถ่ายจากสถานที่จริง ตลอดทั้งปี ผมรวบรวมแหล่งข้อมูลมากมายสำหรับการทำหนัง เราเคยถ่ายทำฉากคลับเอล โมร็อกโคสำหรับหนังเรื่อง Radio Days ผมใช้องค์ประกอบแบบที่ผมจำได้ว่าวู้ดดี้ชื่นชอบในการสำรวจหาสถานที่ เฉกเช่นขั้นบันไดรอบวนและทางเดินของผับบาร์ เมื่อผมลงมือทำงาน ผมต้องยอมรับเสมอว่ามันคือมุมมองของวู้ดดี้ต่อโลกใบนี้มากกว่าเป็นความบันเทิงบทหนึ่ง ผมพูดเสมอว่านี่คือบทบันทึกความทรงจำ ไม่ใช่บทสันทนาการซึ่งมันจริงแท้ในตัวของเรื่องราว เขากังวลเสมอว่าถ้าเรายึดติดกับความถูกต้องในงานตกแต่ง เราก็จะรู้สึกว่ามันยุ่งยากในแง่ที่ว่ามันไม่ดึงดูดในสายตาของเขา” นักออกแบบคู่บุญของอัลเลนกล่าว

     สำหรับฉากเปิดเรื่องของหนังที่เป็นฉากสระว่ายน้ำในบ้านของดาราฮอลลีวูดนามว่า โดโลเรส เดล ริโอ ก็อิงมาจากรูปภาพในหนังสือที่โลควอสโตคัดสรรมา เขาส่งรูปไปให้แผนกจัดสรรสถานที่และโชคดีที่พวกเขาหาเจอ บ้านที่ได้จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นความแตกต่างระหว่างลอสแองเจลิสและนิวยอร์กอย่างชัดเจน “ขณะที่คลับในนิวยอร์กจะเป็นสีขาว-ดำ และแดง บ้านของโดโลเรสก็จะมีสระน้ำ มีอาคารสีขาวรายล้อมด้วยหญ้าเขียว ประดับด้วยเครื่องเงินและเฟอร์นิเจอร์สีน้ำทะเล”

     ส่วนอพาร์ตเมนต์แสนทะมึนของโรสและมาร์ตี้ ดอร์ฟแมนก็ถ่ายทำที่อพาร์ตเมนต์บนถนนริเวอร์ไซด์ ไดรฟ์ “มันอยู่ในสภาพเก่าแก่อยู่แล้วและเราก็สามารถทำให้ดูเก่าขึ้นอีกและตกแต่งกลับคืนมาได้” ตามด้วยบ้านของเอเวอลีนและเลียวนาร์ดที่ตั้งใจว่าจะเป็นที่ไหนซักแห่งที่อยู่นอกตัวเมือง “มันยากนะที่จะหาบ้านนและทางเดินที่เหมาะกับตัวหนัง วิตตอริโอต้องการสถานที่ๆดูเทากว่าปกติ แล้วเราก็ทำให้มันดูน้ำตาลอมเทาและมีสีเทาซะเลย” โลควอสโตกล่าว

     เครื่องแต่งกายก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เรื่องราวของคนยุค 1930 มาโลดแล่นอีกครั้ง ซูซี่ เบนซิงเกอร์ นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่เคยร่วมงานกับอัลเลนใน Blue Jasmine และ Irrational Man เข้ามาสร้างสรรค์ความหรูเลิศให้เจิดจรัสและยังถ่ายทอดให้เห็นความแตกต่างระหว่างความเจิดจรัสแบบคนนิวยอร์กกับแบบฮอลลีวูด “ฮอลลีวูดถูกสร้างขึ้นมาบนโลกมายาที่จะพาผู้คนกว่าล้านคนเข้าสู่วงการหนัง นั่นเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ดาวเด่นหน้าใหม่เหล่านั้นงามเจิด พวกเขาจะแต่งองค์ทรงเครื่องทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน เราดูรูปถ่ายพวกงานเลี้ยงฮอลลีวูดในยุค 1930 ที่ๆบรรดาสุภาพสตรีชอบใส่เสื้อโค้ทขนสัตว์ ประดับด้วยดอกกล้วยไม้ และเมื่อคุณดูวันเวลาที่พวกเขาจัดงานเลี้ยง ก็รู้ว่าพวกเขาจัดกันในเดือนสิงหาคม ซึ่งช่วงนั้นอากาศร้อนจริงๆที่แคลิฟอร์เนีย ขณะที่นิวยอร์กจะดูยึดหลักตามความจริงมากกว่า ข้างนอกอากาศเย็น ดังนั้นผู้หญิงก็เลยชอบใส่หมวกกัน”

     แน่นอนว่าสไตล์ของคนนิวยอร์กแตกต่างกันเพราะผู้คนได้รับอิทธิพลจากวิถีชีวิตที่เนี้ยบหรูจริงจัง พวกเขาจะใส่ชุดทักซิโด้หรือเสื้อผ้าแบบคนชั้นสูง “ผู้หญิงนิวยอร์กจะดูเป็นคนยุโรปและเป็นเด็กสาวมากกว่าผู้หญิงในแคลิฟอร์เนียเสียอีก” เบนซิงเกอร์กล่าวถึงสไตล์ของคนนิวยอร์ก “นิวยอร์กยุคนั้น บรรดาดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสเข้ามาทำงานและในบรรดาสาวๆที่เป็นลูกค้าก็เลยมีการแข่งขันกันระหว่างค่ายแชนเนล กับเชียพาเรลลี”   และแม้ภาพถ่ายที่เบนซิงเกอร์ถือเป็นแหล่งข้อมูลล้วนเป็นภาพขาวดำ เธอก็เลยอาศัยการอ่านแทน “ฉันอ่านบทความจากนิตยสารแฟชั่นยุค 1930 ที่บอกว่าแฟชั่นยุคนั้นมีสีสันที่ร้อนแรงและมาจากปารีส”

     ด้านเจสซี ไอเซนเบิร์ก นักแสดงผู้เคยร่วมงานกับวู้ดดี้ อัลเลนมาก่อนเรื่อง To Rome With Love บรรยายความรู้สึกต่อการทำงานกับอัลเลนว่าทั้งท้าทายและสมดังใจปรารถนา “มันกังวลมากนะเพราะคุณจะไม่ใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนในฉากเดียวกัน ดังนั้นถ้าคุณรู้สึกว่าคุณไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการอย่างแน่แท้ ความรู้สึกนั้นก็ยังปรากฏอยู่ในหนัง แต่ก็เป็นเรื่องพอใจนะที่รู้ว่าคุณกำลังถูกจับจ้องและจับผิดโดยใครสักคนที่ให้ความสำคัญซึ่งถือเรื่องจำเป็นอย่างมากในการทำหนังแต่ละฉาก และเน้นย้ำให้โดดเด่นออกมาด้วยวิธีที่ทรงพลัง ชัดเจนและฉลาดที่สุด” ส่วนสตีฟ คาเรลก็ชื่นชมว่าอัลเลนไม่ได้ทำหนังแบบถ่ายหลายเทค “เมื่อคุณทำอะไรมากเกินไป คุณก็จะเริ่มคิดมาก ปฏิกิริยาหรือภาพที่ปรากฏออกมาเลยดูแปลกปลอม ผมคิดว่าเขาชอบความกระชับฉับไวซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ได้ผล” และคริสเตน สจ๊วตก็รู้สึกว่าอัลเลนได้ผลักดันให้เธอออกจากจุดที่เธอคุ้นเคย “ มันมีความสนุกสนานและความคึกคักสำหรับตัววอนนี่ที่ฉันยังเข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก เขาก็เลยให้ความช่วยเหลือ ทำให้ฉันรู้สึกร่าเริงและค้นพบความรู้สึกสบายใจจริงๆ” ทางด้านเบลค ไลฟ์ลี่ก็กล่าวว่าอัลเลนไม่เคยก้าวก่ายหรือยกตนข่มคนอื่นใดๆ “เขาจะไม่ให้บทพูดที่ชัดเจนแก่คุณ ในการทำงานของเขา เขาจะพูดประมาณว่า อารมณ์ในแต่ละฉากควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จากนั้นเขาก็จะพูดซักประโยคหนึ่งแล้วมันก็จะเปลี่ยนความคิดคุณโดยสิ้นเชิงว่าประโยคที่ควรจะพูดคืออะไร” ส่วนคาเรลก็เชื่อว่าวิธีการกำกับหนังของอัลเลนอยู่ที่การชื่นชมในตัวนักแสดงและการทำงานของพวกเขา “ผมคิดว่าอัลเลนเอาใจใส่นักแสดงจนเชื่อมั่นว่าพวกเขาเตรียมตัวพร้อมอย่างดีและเต็มใจร่วมงาน เขาจะจัดการให้นักแสดงได้โชว์ฝีมือเต็มที”

 

     ส่วนคริสเตน สจ๊วตก็รู้สึกว่าเธอแทบไม่ต้องพึ่งคำแนะนำเลยเพราะบทหนังสร้างตัวละครของเธอออกมาชัดเจน “แทนที่ให้เขาอธิบายว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ฉันใช้เวลามากมายในการทำให้เขาเชื่อมั่น แบบว่า โอ้ ฉันรู้เรื่องนี้ดี ฉันอยากให้คุณรู้ว่าฉันไม่ได้แค่แสดงออกมา นี่เป็นสิ่งที่ฉันมีประสบการณ์มาก่อนและเขาก็ประหลาดใจอยู่เสมอ” ทางไลฟลี่ก็กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ฉันชื่นชอบเกี่ยวกับบทหนังเรื่องนี้คือตัวละครแต่ละคนต่างมีเหตุผลของตนเองที่ทำให้ตนเองมีค่าพอที่จะได้รับความรัก แต่พวกเขาต่างได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป บางคนได้น้อย บางคนได้มากและไม่ได้อะไรเลย มันเป็นเรื่องของปฏิกิริยาเคมีทางอารมณ์ การตกหลุมรักไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่งดีกว่าอีกคนหนึ่ง มันก็แค่ใครสักคนที่ทำให้หัวใจคุณเต้นเร็วต่างหาก”

ตัวอย่างภาพยนตร์
 

Cafe' Society ณ ที่นั่นเรารักกัน